Wednesday, February 28, 2007

PortfolioCDIV


สวัสดีครับ ผม นาย ยุทธศักดิ์ รักแคว้น (ต้น)
นักศึกษาชั้นปีที่3/2549 คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาการออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ การจัดทำเว็บบล็อกครั้งนี้ก็เพื่อจะนำเสนอเรื่องราวที่ผมได้เรียนรู้ตลอดระยะเวลา1เทอม ในวิชาCommunication Design 4 ว่าได้เรียนรู้อะไรไปบ้าง มากน้อยเพียงใด ซึ่งผมหวังว่าผู้เข้าชมเองก็คงจะได้รับความรู้บ้าง
อาจจะเพียงเล็กน้อย หรือถ้าไม่ได้ความรู้กันก็คงจะเพลินกับการเยี่ยมชมเว็บบล็อกของผมนะครับ...

- all about Alan Fletcher
- Experimental Design : Metaphor
- Typography for Steak Set Menu

----------------------------------------------------------------------------

Alan Fletcher
Alan Fletcher คือชื่อของนักออกแบบชาวอังกฤษผู้ที่เป็นแรงบันดาลใจให้แก่นักออกแบบหลายๆคนทั่วโลก เค้าเป็นนักออกแบบที่มีแนวความคิดในการทำงานว่าเหมือนกับการเล่นเกมหรือก็คือการที่เราควรจะสนุกไปกับมัน ไม่ต้องไปคิดมากหรือกังวลใดๆ ทำตามที่เราคิด สนุกกับมัน มันก็จะส่งผลที่ดีตอบกลับมา นอกจากนั้นสไตล์ของการหรือรูปแบบวิธีการของเค้ายังเป็นที่จดจำและก็เป็นตัวอย่างแก่นักออกแบบรุ่นต่อๆมาด้วย แต่ตอนนี้เค้าได้ลาโลกเราไปแล้ว ผมจึงจะขอแนะนำประวัติและผลงานที่เด่นๆของเค้าให้ได้ทราบกัน

Alan Fletcher ทำงานทางด้าน graphic designer มานานกว่า 55 ปี ก่อนจะเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2006 โดยก่อนหน้านั้นก็ได้ฝากผลงานที่ยิ่งใหญ่ไว้อย่างมากมายซึ่งผลงานทั้งหมดได้ถูกรวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์ และจะมีการจัดนิทรรศการเพื่อรำลึกถึงผลงานเก่าๆที่มีคุณค่าเหล่านั้นในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2006 เพื่อเฉลิมฉลองผลงานที่ยิ่งใหญ่และทรงอิทธิพลต่อวงการ graphic designer ของอังกฤษ

เขาเป็นผู้ก่อตั้ง Fletcher/Forbes/Gill studio ขึ้นในปี 1960 และ Pentagram ในปี 1970 และยังได้แต่งหนังสือต่างๆที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจและเรื่องราวน่าตื่นตาตื่นใจบนความคิดที่ยิ่งใหญ่ไว้มากมายเช่น Designed to be open at random, The Art of Looking Sideways, Alan Fletcher’s 2001 book เป็นต้น นักเรียนและนักออกแบบต่างๆก็ใช้เป็นต้นแบบในการคิด และเป็นสิ่งกระตุ้นในการผ่านปัญหาต่างๆ ความคิดที่ยิ่งใหญ่ของเขามีส่วนในการรวมกันระหว่างวัฒนธรรมยุโรปกับอเมริกาเหนือ จนทำให้เกิดประเพณีใหม่ที่ได้ถูกพัฒนาให้เป็นระบบมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นผู้บุกเบิกให้เกิดอิสรภาพแก่วงการ graphic design ในอังกฤษอีกด้วย โดยมีการหาหุ้นส่วนใน Pentagram เพื่อให้เกิดห้างหุ้นส่วนที่มีความคิดสร้างสรรค์อย่างอิสระ นอกจากนี้เขายังพัฒนาให้เกิดการเรียนรู้ที่มีแบบแผนและง่านต่อการจดจำ

เขาเกิดที่เคนยา และได้ย้ายมาอยู่ที่อังกฤษกับแม่หลังจากพ่อได้ล้มป่วยและเสียชีวิตลง โดยอาศัยอยู่ในย่านตะวันตกของกรุงลอนดอน ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เขาได้เข้าเรียนในโรงเรียนประจำที่เพื่อนๆล้วนอยากเป็นทหารและนายธนาคารด้วยกันทั้งนั้น ต่อมาได้ตัดสินย้ายมาเรียนที่ Hammersmith School of Art และ Central School ตามลำดับ และได้พบกับ Colin Forbes และ Theo Crosby หลังจบการศึกษาที่ Central School แล้วได้ไปสอนภาษาอังกฤษที่บาร์เซโลนา จนได้ตำแหน่งที่ Royal College of Art หลังจากนั้นได้ทุนไปเรียนต่อที่ Yale University ในสาขา graphic design และได้แต่งงานกับสาวชาวอิตาเลียนที่นั่นเขาได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนนักออกแบบที่มีชื่อเสียงโด่งดังเช่น Robert Brownjohn, Tom Geismar ที่นิวยอร์กอีกด้วย หลังจากเรียนจบก็เริ่มเดินทางไปละตินอเมริกา แต่ก็ต้องมาหยุดอยู่ที่ลอสแองเจลิสเพื่อหาเงินในการเดินทาง เขาได้ทำงานเป็นผู้ช่วยของนักออกแบบท่านหนึ่งชื่อ Saul Bass อยู่ระยะหนึ่ง เขารักที่จะใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกา แต่ภรรยาของเขาอยากอยู่ในยุโรปมากกว่า จากนั้นได้เดินทางไปเวเนซุเอลา แต่โชคไม่ดีที่ไปตรงกับการปฏิวัติพอดีเขาจึงเดินทางไปลอนดอนโดยใช้เส้นทางผ่านเมืองมิลาน ระหว่างพักอาศัยระยะสั้นๆในอิตาลีเขาได้ทำงานใน Pirelli design studio และต่อมาพบว่าอังกฤษกำลังตกอยู่ในยุคมืดจึงย้ายกลับไปอเมริกาและทำงานร่วมกับ Colin Forbes หลังจากนั้นเขาและ Forbes ได้สร้างสัมพันธภาพกับ Bob Gill และสตูดิโอที่พวกเขาร่วมกันสร้างขึ้นก็เริ่มมีชื่อเสียง และวงการ graphic design ในลอนดอนได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากการเข้ามาของนักออกแบบชื่อดังชาวอเมริกา เช่น Gill, Bob Brooks เป็นต้น ในปี 1963 Bob Gill ได้ออกจากบริษัทไป แต่ก็ได้ Crosby เข้ามาแทน หลังจากนั้นเขาก็ได้สร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่และน่าจดจำออกมาอีกเรื่อยๆ



ตัวอย่างผลงานของ Alan Fletcher



ผลงานต่างๆของเค้ามักจะมีการเล่นกับความคิดของผู้ชม คือผู้ชมสามารถตีความตามความคิดของตนหรือตามประสบการณ์ที่ได้พบมาในแต่ละคน ซึ่งนี่คือสเน่ห์อีกอย่างหนึ่งของAlan Fletcher เพราะมันเหมือนกับทำให้งานของเค้าดูมีชีวิตชีวากว่างานที่นิ่งๆ และผมก็คิดว่างานมันมีสเน่ห์มากเมื่อได้เล่นกับผู้ชม

---------------------------------------------------------------------------------

Experimental Design : Metaphor
โปรเจคงานทดลองที่ผมได้ทดลองจาการสังเกตและรู้จักเปรียบเปรยของคนเราหรือMetaphor โดยผมเริ่มจากการสังเกตสิ่งรอบๆตัวว่ามันมีแรงบันดาลใจหรือซ้อนความนัยอะไรไว้ในตัวมันเองบ้าง แล้วนำความรู้ที่ได้นั้นมาพัฒนา

ซึ่งจากการสังเกต ผมจึงได้ยกเรื่องข้าวแกงมาเป็นหัวข้อหลักในการทดลอง นั้นคือข้าวแกงคืออาหารจานหนึ่งที่มีกับข้าวหลายๆอย่างมารวมกันเป็นหนึ่งเดียวก็เหมือนกับความเป็นเอกภาพที่เกิดจากความหลากหลายนั่นเอง แล้วผมก็ได้นำมาทดลองโดยการใช้typography มาเป็นสื่อในการทดลอง

การทำงานก็เริ่มจากการเข้าไปรู้จัก typeface ต่างๆมากมาย เพื่อให้เราได้รู้จักกับลักษณะของแต่ละ typeface แล้วก็เริ่มนำมารวมเข้าด้วยกันเหมือนการปรุงข้างแกง หาลักษณะของ typeface มาเป็นตัวช่วยการอธิบายสิ่งที่ต้องการจะสื่อสาร



สุดท้ายผมก็ได้ทำออกมาในรูปแบบนามธรรม โดยนำรูปแบบการจัดวางทั้งหมดที่มีสลับตำแหน่ง แล้วนำคำว่าข้าวแกงที่ดีที่สุดมาเป็นจุดเด่น ให้เหมือนกับว่าเมื่อหลายๆอย่างมาผสมกันโดยมีส่วนประกอบหลายๆอย่างมาผสมกันจนเกิดเป็นข้าวแกง แล้วนำรูปแบบที่ได้นั้นมาจัดทำเป็นโปสเตอร์ โปสการ์ดและได้ลองทำภาพประกอบจากแนวความคิดเดียวกันที่ว่าความเป็นเอกภาพจากความหลากหลาย

-----------------------------------------------------------------------

Typography for Steak Set Menu

งานนี้เป็นงาน Final Project ที่ให้นักศึกษาเสนอหัวข้องานเองตามที่ตนเองสนใจ ผมจึงได้เสนองานที่เกี่ยวกับtypography เพราะเหมือนกับเป็นความต่อเนื่องจากงานทดลองและเป็นสิ่งหนึ่งที่ผมชอบ

ผมได้เสนอที่จะทำเมนูอาหารแบบใหม่ที่ไม่ใช่อยู่ในเล่มเหมือนทั่วไป แต่เป็นเมนูอาหารที่วางโชว์เป็นส่วนประกอบหรือตกแต่งภายในร้าน โดยเริ่มจากการหาพื้นที่ให้กับตัวอักษรว่า คำว่าอะไร อยู่ในพื้นที่ขนาดเท่าไหร่(พื้นที่คือพื้นที่จริงจากพาชนะ) และนำมาคำนวณเพื่อหาพื้นที่ให้กับตัวอักษร



จากนั้นผมก็เริ่มลงมือนำตัวอักษรวางลงในพื้นที่ตามที่คำนวณไว้ หาtypefaceที่มีความสมต่อประเภทอาหารที่ผมเลือกไว้ ได้แก่ สเต็ก สปาเก็ตตี้ ซุปข้าวโพด และนำแอ๊ปเปิ้ลปั่น แล้วนำเสนอออกมาในรูปแบบงานประเภท3มิติ ที่มีtypography ทำหน้าที่สื่อสารกับผู้ชม โดยที่สิ่งที่ผมต้องการสื่อสารออกไปก็อาจจะไม่ต้องการให้ตรงจนเกินไป แต่ผมต้องการเล่นกับผู้ชมเพื่อให้เค้าได้คิดต่อเองบ้างเพื่อไม่ให้งานนั้นดูน่าเบื่อเกินไป และสุดท้ายผมก็ได้ลองทำของแถม นั้นก็คือนำข้อมูลจาการทำเมนูนั้นมาทำให้ออกมาเป็นนามธรรม โดยใช้ความคิดและวิธีจากงานทดลองมาทำ นั่นก็คือส่วนประกอบต่างๆ มารวมกันจนเกิดเป็นอาหารนั้นขึ้นมา


จากการทำงานในครั้งนี้ทำให้ผมมีความคิดในทำงานที่กว้างมาขึ้นกว่าแต่ก่อน ตัวอย่างเช่นการตัวอักษรที่เมื่อก่อนผมจะติดอยู่กับแกน90องศา 180องศา หรือ45องศา แต่เมื่อได้ทำงานนี้ผมจึงได้เข้าใจการใช้ตัวอักษรมากขึ้น กล้าที่จะเล่นกับตัวอักษรมากยิ่งขึ้น และยังได้รับความรู้เพิ่มเติมจากโปรเจคของเพื่อนๆ และสุดท้ายก็ต้องขอขอบคุณอาจารย์ติ๊กกับอาจารย์ป๋อง ที่ช่วยแก้นิสัยเสียบางอย่างที่ไม่ดีในการออกแบบของผมซึ่งมันอาจจะยังไม่หายไปซะทีเดียวแต่ผมก็รู้สึกว่ามันดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน

และสุดท้ายนี้ผมขอขอบคุณผู้ชมที่อ่านมาจนถึงตรงนี้(ซึ่งถ้าใครอ่านมาไม่ถึงก็คงไม่ได้รับคำขอบคุณ...ล้อเล่นๆ) และถ้ามีโอกาสต่อไปผมจะมาอัพข้อมูลต่างๆในโอกาสต่อไปครับ

ขอบคุณครับ.